การเคหะแห่งชาติเดินหน้าแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ลดปัญหาอาชญากรรม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

0
1921

การเคหะแห่งชาติ ผลึกกำลังขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค 1 -9 และหน่วยงานภาคีเครือข่าย แก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ มุ่งสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน​นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ควบคู่ไปกับการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน และให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดในชุมชนให้หมดไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนและภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 การเคหะแห่งชาติและตำรวจภูธรภาค 1 ได้ลงนามความร่วมมือโครงการดังกล่าว ในพื้นที่ 9 จังหวัด โดยมีโครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการนำร่อง และได้รับผลตอบรับที่ดีจึงนำไปสู่การลงนามความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 โดยคัดเลือกชุมชนการเคหะแห่งชาติเข้าร่วมการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนฯ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน ขับเคลื่อนไปสู่ชุมชนยั่งยืน จำนวน 20 ชุมชน 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จันทบุรี ชลบุรี สระบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง น่าน สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่การ “ค้นหา คัดกรอง ฟื้นฟู ติดตาม ดูแล และช่วยเหลือ” ด้วยการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางที่สามารถดูแลผู้ติดยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติร่วมกับตำรวจภูธรภาค 1 จัดอบรมสัมมนาชุดปฏิบัติการโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนฯ เพื่อให้ชุดปฏิบัติการได้เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับตำรวจ และนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพต่อไป

“การเคหะแห่งชาติมีที่อยู่อาศัยทั่วประเทศประมาณ 746,439 หน่วย โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง และพบว่าปัญหายาเสพติดสามารถเข้าถึงชุมชนของเราได้อย่างง่าย จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชน และภาคีเครือข่ายในการ “ป้องกัน รักษา บำบัด ฟื้นฟู” เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมผลักดันไปสู่เป้าหมายสุดท้ายตามนโยบายของรัฐบาล คือ การสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศ” นายทวีพงษ์ กล่าวท้าย