การเคหะแห่งชาติเดินหน้าโครงการ “พัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานรัฐ – เอกชน ทุกระดับช่วยประชาชนเข้าถึง “ข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย” ง่ายขึ้น พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต

0
1850

“การเคหะแห่งชาติ” มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางเพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผ่านโครงการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความพร้อมและความเหมาะสมหลายด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐาน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกมิติหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์ภารกิจดังกล่าว คือการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ได้มีมติมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลที่อยู่อาศัยหรือ Big Data โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคม และการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อตอบสนองประชาชนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย โดยบูรณาการฐานข้อมูล
ที่อยู่อาศัยที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นฐานเดียวกัน เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ โดยพัฒนาระบบการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ https://nhic.nha.co.th/ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ แบ่งเป็น 11 หมวดหมู่ ประกอบด้วย
1.นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัย 2. ข้อมูลประชากรและครัวเรือน 3. สถานการณ์ด้านที่อยู่อาศัย
4. ความต้องการด้านที่อยู่อาศัย 5. ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศด้านที่อยู่อาศัย 6. งานวิจัยด้านที่อยู่อาศัย
7. ข้อมูลด้านกฎหมาย ผังเมือง และสิ่งแวดล้อม 8. ข้อมูลราคาวัสดุและสิ่งก่อสร้าง 9. การเงินด้านที่อยู่อาศัย
10. ข้อมูลสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ขนส่ง 11. บริการข้อมูล-ข่าวสารเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า ในปี 2564 การเคหะแห่งชาติได้จัดทำโครงการ “พัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” โดยดำเนินงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลชุมชนบ้านมั่นคง ชุมชนแออัดบุกรุก และชุมชนกรุงเทพมหานคร ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กับชุมชน
ผู้มีรายได้น้อยในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ของการเคหะแห่งชาติ และนำมาเผยแพร่ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ Dashboard สรุปผลวิเคราะห์สถานการณ์ความต้องการที่อยู่อาศัยของประชากรในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ได้แก่ การคาดประมาณความต้องการที่อยู่อาศัยรายจังหวัดและอำเภอ
ปี 2565 จำแนกตามเกณฑ์รายได้ของการเคหะแห่งชาติ, ความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทซื้อ/เช่า, การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน เป็นต้น
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2565 การเคหะแห่งชาติยังเดินหน้าพัฒนา “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายจัดทำแผนพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ระยะ 10 ปี ทั้งแผนระยะสั้น
แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว สำหรับใช้เป็นแนวทางการพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ และสามารถตอบสนองแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) พร้อมตั้งเป้าพัฒนาระบบเว็บไซต์ของ
ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยให้มีความทันสมัย และพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ สำหรับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ระหว่างการเคหะแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยขยายเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งสร้างพันธมิตรภาคีเครือข่ายให้กับองค์กร และศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ รวมถึงจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหาแนวทางร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ ในการบูรณาการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูล สนับสนุน และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เปิดตัวขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ และการประสานภาคีเครือข่ายจากสถาบันการศึกษา
ทั่วประเทศในการสำรวจข้อมูลความต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น