กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.00-31.40 มองสถานการณ์ไวรัสโคโรนากดดันสินทรัพย์เสี่ยง

0
2049

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.40 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.23 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 6.2 พันล้านบาทและ 2.5 พันล้านบาทตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยทำสถิติแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่า นักลงทุนจะติดตามการแถลงนโยบายของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อสภาคองเกรส ตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกสหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐหลายรายการที่ประกาศสัปดาห์ที่แล้วออกมาสดใสเกินคาด ซึ่งตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงบ่งชี้ทิศทางอ่อนแอ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดและกระแสข่าวเกี่ยวกับวิธีการรักษาไวรัสโคโรนายังคงกดดันสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่และราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าจับตาว่า หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่นั้น มีการปรับฐานครั้งใหญ่ จะส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายและภัยแล้งซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจและการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กนง.ประเมินว่าแม้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้างแต่อาจจะยังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยและมีแนวโน้มผันผวน ขณะที่ผู้ว่าการธปท.ระบุว่าการแก้ปัญหาค่าเงินบาท จะต้องมีการเปิดเสรีให้ไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นและในระยะถัดไป ผู้ส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศเพิ่มขึ้น อนึ่ง เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้ว่าการธปท.มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว แต่ภายหลังการปรับลดครั้งล่าสุดยังคงเหลือ Policy Space ให้ใช้ได้ หากสถานการณ์ย่ำแย่ลง ท่าทีเช่นนี้ ทำให้เราประเมินว่ามีโอกาสมากขึ้นที่กนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยเชิงสัญลักษณ์ลงอีกในปีนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งกำลังฉุดรั้งการขยายตัวให้ต่ำกว่าศักยภาพมากยิ่งขึ้น