กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.50-30.80 มองเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน

0
1536

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-30.80 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.59 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 5.7 พันล้านบาท และ 3.9 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 0.5% เคลื่อนไหวสวนทางกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชียซึ่งล้วนปรับตัวอ่อนค่าลง ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซนและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทาง Brexit หนุนเงินดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ แม้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ สถานการณ์การค้าโลก ค่าเงินหยวน ราคาทองคำรวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกง ขณะที่จีนกับสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากสินค้าของอีกฝ่ายระลอกใหม่ ทั้งนี้ สหรัฐฯเริ่มเก็บภาษี 15% จากสินค้าจีนหลายรายการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ส่วนจีนเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ เราประเมินว่าในภาวะที่ตลาดไม่มั่นใจว่าสงครามการค้าจะสามารถคลี่คลายลงได้ในระยะเวลาอันสั้นและสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักไม่เพียงพอที่จะหนุนความอดทนของนักลงทุนต่อการรับความเสี่ยง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังคงผันผวนและกดดันสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ซึ่งจะช่วยจำกัดการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

สำหรับปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.52% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และยังคงต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 1.0-4.0% ทางด้านธปท.ระบุว่าค่าเงินมีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนไหวมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่เปราะบาง อย่างไรก็ดี ทางการเห็นว่าการส่งออกของไทยสามารถกระจายประเทศคู่ค้าและสินค้าได้ค่อนข้างดี ทำให้ได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่าหลายประเทศ ส่วนเดือนก.ค.ไทยยังมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.77 พันล้านดอลลาร์ เราคาดว่าแม้ภาคส่งออกอาจผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีส่วนหนึ่งสะท้อนฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2561 ขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกยังต้องติดตามใกล้ชิด โดยคาดว่ามีโอกาสที่กนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% อีกครั้งภายในปีนี้