กรมวิทย์ฯ เผยไทยพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 แล้ว 27 ราย ชี้อาจแพร่เร็วกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 ส่วนความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

0
543

วันนี้(18 เมษายน 2566) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตาม ในประเทศไทย ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกติดตามใกล้ชิดในปัจจุบัน ได้แก่

• สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 1 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5
• สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1*, BA.2.75*, CH.1.1*, XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* และ XBF*
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์สายพันธุ์ทั่วโลก สัปดาห์ที่ 12 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2566) สายพันธุ์ XBB.1.5 มีรายงานการตรวจพบจาก 95 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุด คิดเป็น 47.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน XBB*, XBB.1.16*, XBB.1.9.1* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบสัดส่วน 17.6%, 7.6% และ 4.0% ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทย สัปดาห์ที่ 8-14 เมษายน 2566 สายพันธุ์ XBB* มีสัดส่วนลดลง แต่ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมาก เป็นลำดับที่ 1 โดย XBB.1.16* พบในตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 22 ราย และเดือนเมษายน 2566 จำนวน 5 ราย (XBB.1.16 = 26 ราย และ XBB.1.16.1 = 1 ราย) รวม 27 ราย สำหรับ XBB.1.9.1* มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.1% เป็น 15% ในส่วนของ XBB.1.5 พบมากเป็นลำดับที่ 2 โดยพบสัดส่วน 27.5% ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรง ในการก่อโรคที่เพิ่มขึ้น และข้อมูลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า XBB.1.16 มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ XBB และ XBB.1.5 แต่คุณสมบัติด้านการหลบภูมิคุ้มกันยังคงเหมือนกัน
สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมจาก BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม ได้แก่ E180V, F486P และ K478R รายงานครั้งแรกจากประเทศอินเดียเมื่อเดือนมกราคม 2566 ต่อมาองค์การอนามัยโลกจัดให้ เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 โดยพบมากที่สุดในประเทศอินเดีย รองมาคือ สหรัฐอเมริกา โดยพบการระบาดมากในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของปี 2566 (วันที่ 20-26 มีนาคม 2566) อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 มีลักษณะอาการทางคลินิกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ คันตา มีขี้ตา ร่วมด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์ XBB.1.16
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การตรวจโควิด 19 ด้วยวิธี Real-time PCR และ ชุดทดสอบ ATK สามารถใช้ตรวจคัดกรอง การติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ลูกผสม เพื่อค้นหาผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยและแยกตัวผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว การทำงานของ ATK อาศัยหลักการทดสอบทางภูมิคุ้มกัน (Immunoassay) ซึ่งเป็นหลักการที่อาศัยการจับกันระหว่างแอนติเจน (antigen) และแอนติบอดี (antibody) โดยส่วนใหญ่ออกแบบให้ตรวจจับโปรตีน N ซึ่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามไม่ส่งผลกระทบ

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ และประสานขอให้ รพ.ทั่วประเทศ ส่งตัวอย่าง มาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เพื่อเฝ้าระวัง การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป สำหรับประชาชนมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และฉีดวัคซีน จะช่วยลดการแพร่เชื้อ และรับเชื้อ โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว